top of page

A Clay Cafe & Ceramic Craft จุดหมายปลายทางของผู้ที่หลงใหลในกาแฟและงานเซรามิก

  • Writer: Pasan Craft Therapy
    Pasan Craft Therapy
  • Jul 8, 2020
  • 2 min read

ทุกวันนี้มีร้านกาแฟหรือที่เรามักจะเรียกว่าคาเฟ่เปิดใหม่มากมาย

แต่จะมีคาเฟ่สักกี่ที่กัน ที่สามารถดึงดูดผู้คนด้วยรสชาติเครื่องดื่ม อาหารและเอกลักษณ์ของตัวร้านเอง สำหรับเรามีอยู่ที่นึงซึ่งไม่ใช่คาเฟ่ธรรมดาๆ แต่เป็นคาเฟ่ที่มีสตูดิโอให้คนได้เข้าไปร่วมเวิร์คช็อป ปั้นจานชามเซรามิกได้ตามใจชอบ คาเฟ่แห่งนี้ตั้งอยู่ย่านสาธร แหล่งออฟฟิศและสำนักงานต่างๆ

ใจกลางเมือง ย่านที่มีคนทำงานเดินกันอย่างพลุกพล่าน แต่ใครจะรู้ว่ามีที่แบบนี้ตั้งอยู่ท่ามกลางความวุ่นวายย่านสาธร เป็นที่ที่เราสามารถไปสัมผัสความสงบ ผ่อนคลาย จิบกาแฟ นั่งชิลล์ รวมไปถึงสัมผัสประสบการณ์การปั้นเซรามิกอีกด้วย ที่นี่คือ A Clay Cafe ร้านกาแฟและสตูดิโอเซรามิกที่ถูกรีโนเวทมาจากตึกเก่าหลังนึง จนกลายเป็นเวิร์คช็อปสตูดิโอและคาเฟ่ที่โดดเด่นในย่านสาธร  อีกทั้งยังเป็นแหล่งที่โปรดปรานของคนทำงานหรือใครที่ผ่านไปผ่านมาจะต้องถูกดึงดูดด้วยตึกสีน้ำเงินสะดุดตาแห่งนี้เป็นแน่


หน้าร้าน A Clay Cafe


A Clay Cafe ร้านกาแฟที่มีเวิร์คช็อปสตูอิโดสำหรับปั้นเซรามิกซ่อนตัวอยู่ภายใน ร้านกาแฟแห่งนี้ตั้งอยู่ที่ซอยสาธร 8 เข้ามาจากปากซอยประมาณ 300 เมตรก็จะพบกับตึกอาคารพาณิชย์ 3 ชั้น สีขาวน้ำเงินดูโดดเด่นออกมาจากตึกหลังอื่นๆอย่างชัดเจน แม้ว่าในซอยนั้นจะเต็มไปด้วยร้านค้า ร้านอาหารตลอดสองข้างทาง แต่คาเฟ่แห่งนี้ก็ยังเป็นหนึ่งจุดหมายของคนวัยทำงานแถวนั้นในช่วงพักเที่ยง เลือกที่จะเข้ามาที่ร้านตลอดเวลาเพื่อมานั่งพักระหว่างวันบ้าง จิบกาแฟยามบ่ายบ้าง



เราจะพาทุกคนมารู้จักกับ A Clay Cafe ร้านกาแฟที่ให้ความรู้สึกอบอุ่นและสงบเหมือนอยู่บ้าน 

อธิบายเองคงจะไม่ค่อยเห็นภาพเท่าไหร่ เราจึงอยากเล่าเรื่องราวของคาเฟ่แห่งนี้ผ่านมุมมองของ

คุณแหวน - พิราอร อำนวยพรสกุล เจ้าของร้าน A Clay Ceramic แห่งนี้เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวความเป็นมาในเรื่องของร้านกาแฟและงานเซรามิกที่เธอหลงใหลว่ามันมีผลต่อชีวิต อารมณ์ และความรู้สึกของเธออย่างไร


คุณแหวน เจ้าของร้าน A Clay Cafe


จุดเริ่มต้นของ A Clay Cafe

ก่อนจะกลายมาเป็นคาเฟ่แห่งนี้คุณแหวนได้ทำงานเซรามิกขาย ต่อยอดจากการที่เธอจบการศึกษาจากภาควิชาเซรามิก มหาวิทยาลัยศิลปากร เธอตั้งชื่อแบรนด์ว่า A Clay Ceramic ซึ่งเป็นแบรนด์สินค้าเซรามิกจำพวกจิวเวอรี่และจานชามต่างๆ จนมาถึงจุดหนึ่งที่คุณแหวนรู้สึกว่าอยากให้สิ่งของที่เธอทำขึ้นมาได้ถูกใช้งาน ประจวบเหมาะกับที่เธอได้พบกับคุณปุ้ย หุ้นส่วนผู้ที่ชื่นชอบในการทำอาหาร

คุณแหวนและคุณปุ้ยจึงตัดสินใจเปิดร้านกาแฟด้วยกันเพื่อรวมสองสิ่งที่ต่างคนต่างหลงใหลไว้ในที่เดียว ยิ่งไปกว่านั้น A Clay Cafe ยังเกิดจากไอเดียส่วนตัวของคุณแหวนที่คิดว่าเมื่อจานชามที่เธอปั้นนั้นได้ถูกใช้งาน มันจะรู้สึกเหมือนว่ามันมีชีวิตมากกว่าการที่ถูกตั้งเฉยๆ ส่วนตัวเราคิดว่าอาจเป็นเพราะความคิด ความตั้งใจและความหลงใหลในการทำงานเซรามิกของคุณแหวนจึงส่งผลให้คาเฟ่นี้มีคนมาเยือนตลอดไม่ขาดสาย


3 มุมมองที่ต่างของ A Clay Cafe

ความตั้งใจแรกของคุณแหวนคือการอยากมีที่ทำงานสักที่ ไม่ใช่ร้านกาแฟแบบทุกวันนี้ แต่มันมีปัจจัยนึงที่ทำให้คุณแหวนเปลี่ยนใจ ซึ่งก็คือเธอไม่ได้อยากให้ที่นี่เป็นแค่ที่ทำงานของเธอ แต่อยากทำให้ที่นี่เป็นพื้นที่สำหรับคนที่มีความสนใจเกี่ยวกับเซรามิก หรืออยากจะลองปั้นดูได้มาสัมผัสมันด้วยตัวเอง เธอจึงตัดสินใจดันพื้นที่ทำงานของเธอลงไปอยู่ชั้นล่างสุดของอาคารพาณิชย์ 3 ชั้น เพื่อใช้พื้นที่ตรงนั้นเป็นที่ทำงานพร้อมกับรับนักเรียนเข้ามาร่วมเวิร์คช็อปเซรามิกด้วย ส่วนพื้นที่ชั้น 2 ก็จะเป็นโซนคาเฟ่ ที่ถูกจัดสรรปันส่วนอย่างเหมาะสมให้ลูกค้าได้เข้ามานั่งทานและสัมผัสบรรยากาศที่อบอุ่นของร้านกาแฟแห่งนี้ ส่วนชั้นสุดท้ายคุณแหวนออกแบบมันให้เป็น art galleryให้เช่าสำหรับผู้ที่อยากจัดแสดงผลงานของตนเอง ซึ่งคุณแหวนมองว่ามันเป็นข้อดีอีกข้อนึงทำให้คนที่มาที่นี่ได้สัมผัสประสบการณ์หลากหลายแบบทั้งด้านเซรามิก ศิลปะ และอาหาร


บาร์ขนมและกาแฟภายในร้าน



โซนชั้น 2  สำหรับนั่งกิน


Art gallery ชั้น 3


การรวมกันของคลาสเวิร์คช็อปกับคาเฟ่

อย่างที่บอกไปตอนต้น ว่าถึงแม้ว่าคุณแหวนจะตั้งใจสร้างที่ให้เป็นที่ทำงานและไอเดียการเปลี่ยนที่นี่ให้เป็นคาเฟ่ตามมาทีหลัง แต่ลึกๆแล้วการทำงานเซรามิกก็ยังคงเป็นสิ่งที่คุณแหวนหลงใหลมากที่สุดอยู่ดี คุณแหวนเจ้าของร้านพูดถึงความเป็นเอกลักษณ์ของที่นี่ว่า “จุดเด่นจริงๆก็คือเซรามิกนี้แหละ เรากะว่าให้เซรามิกมันขายตัวมันเอง แต่ว่าเหมือนคาเฟ่จริงๆมันเป็นส่วนที่แบบดึงให้คนเข้ามาเยอะ” คุณแหวนจึงเอาเซรามิกที่เธอชอบมารวมกับการที่ตัวเองชอบกินกาแฟ และตัดสินใจสร้างคาเฟ่นี่ให้เป็นเหมือนที่ทำงานของเธอ และเป็นที่ที่รวมสองสิ่งที่เธอชอบเอาไว้ในที่เดียว และนั่นก็เป็นเหตุผลที่ว่าทำไมคุณแหวนถึงเปิดคาเฟ่ที่มีห้องสำหรับเวิร์คช็อปเซรามิกอยู่ภายใน


เอกลักษณ์เฉพาะของคาเฟ่สีน้ำเงินสะดุดตา

จุดที่บ่งบอกว่างานเซรามิกแบบนี้เป็นของคุณแหวนก็คือการเลือกใช้สีน้ำเงินและสีขาวเป็นสีหลัก ผสมผสานกับลวดลายหน้าคนหลากหลายแบบ คุณแหวนบอกว่าที่เซรามิกของเธอถูกวาดลวดลายเหมือนกับหน้าตาของคนมันมีที่มาจากการที่เวลาเดินไปตามบ้าน หรือว่าตามถนนหนทางต่างๆ เธอจะจินตนาการเป็นรูปภาพในหัวเหมือนกับว่าหน้าต่างเป็นหน้าคน หรือว่าฝาท่อที่มันมีลวดลายคล้ายๆกับหน้าคนที่มันดูเหมือนมีตา จมูก ปาก คุณแหวนก็คือเราก็เลยจนำแรงบันดาลใจเหล่านั้นเพ้นท์ลงไปบนแก้ว งานเซรามิกส่วนมากของที่นี่แม้จะเป็นลวดลายหน้าคนแต่ว่าชิ้นงานแต่ละอันก็จะถูกวาดลวดลาย ไม่ซ้ำกัน มันอาจจะมีจุดเล็กๆที่ต่างออกไปแต่ยังคงไว้ด้วยแพทเทิร์นหน้าคนแบบเดิม


จุดเด่นของงานเซรามิกของคุณแหวน


เวิร์คช็อปเซรามิกที่ A Clay Cafe

โชคดีที่วันที่เราไปสัมภาษณ์คุณแหวนนั้นมีนักเรียนมาเข้าร่วมเวิร์คช็อปพอดี คุณแหวนอนุญาติให้เราเข้าไปเก็บภาพบรรยากาศภายในห้องได้ หลังจากเปิดประตูเข้าไปเราก็พบกับห้องสีเหลี่ยมผืนผ้าขนาดไม่ใหญ่มาก รอบห้องก็จะเรียงรายไปด้วยชั้นวางของที่เต็มไปด้วยงานเซรามิคต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นแก้ว จาน ชาม หรือว่าชิ้นงานเซรามิกจิ๋วต่างๆ เรียงรายเต็มทุกชั้น มีทั้งแบบที่เพ้นท์เสร็จแล้ว กับงานที่พึ่งเผาซึ่งสีของงานก็จะมีความแตกต่างกันไป หลังจากสังเกตุรอบๆห้องตรงกลางห้องจะมีม้านั่งยาวพร้อมกับโต๊ะยาวๆซึ่งมีนักเรียนกำลังเรียนคลาสเวิร์คช็อปอยู่มีคุณครูกำลังสอนคนนึงนั่งอยู่ฝั่งตรงข้ามของโต้ะ ส่วนอีกฝั่งเป็นคู่รักคู่หนึ่งที่กำลังตั้งใจปั้นอะไรบางอย่างอยู่ เรามองไม่ออกเพราะคลาสพึ่งเริ่มและดินปั้นพึ่งถูกนวดเพื่อที่จะขึ้นรูปทรงในขั้นตอนต่อไป เรามีโอกาสได้ไปเข้าไปสัมผัสบรรยากาศในห้องเรียนเซรามิคอยู่พักนึง สิ่งที่เรารับรู้ได้คือบรรยากาศที่สงบมาก คลาสเรียนดำเนินไปในขณะที่เพลงฟีลกู๊ด

ถูกเปิดคลออย่างเบาๆเพื่อสร้างบรรยากาศที่ผ่อนคลาย และสำหรับคนที่สนใจอยากจะเข้าร่วมเวิร์คช็อปเซรามิกที่นี่มีให้เลือกสองแบบคือ 1 วัน 2,000 บาท กับ 2 วัน 3,000 บาท ความแตกต่างของสองคอร์สจะต่างกันที่ปริมาณดิน กับเทคนิคการลงสี แบบ 1 วัน สีจะออกพาสเทล แบบ 2 วัน จะสีเข้มกว่า และสามารถเลือกชุบสีเคลือบได้ด้วย คอร์สที่นี่เปิดให้ได้เข้าร่วมทุกวัน ยกเว้นวันพฤหัสบดี โดนต้องทำการจองผ่าน inbox ในเฟสบุ๊คเพจของทางร้านเท่านั้น ไม่รับ walk-in ส่วนผลงานที่ทำจะได้รับในอีก 2-3 อาทิตย์หลังจากวันที่มาเรียน เพราะเนื่องจากต้องสใช้เวลาอบและเก็บรายละเอียดอื่นๆค่อนข้างนาน


ห้องสำหรับทำเวิร์คช็อปเซรามิก


ความรู้สึกกับเซรามิก

“เหมือนเวลาปั้นอะมันทำให้เราแบบใจเย็น รู้จักการรอ แล้วมันก็มันก็ช่วยบำบัดเราเหมือนกัน เวลาเบื่อๆ” คุณแหวนกล่าว จากข้อสงสัยของตัวเราเองที่ว่าการปั้นเซรามิก มันจะช่วยทำให้เรารู้สึกผ่อนคลาย ไม่เครียดมันจริงหรือไม่อย่างไร นี่คือคำตอบจากบุคคลที่ใช้ชีวิตอยู่กับการปั้นเซรามิกมาตั้งแต่สมัยเรียน จนตอนนี้มีคลาสเวิร์คช็อป และมีงานเซรามิกเป็นแบรนด์ของตัวเอง คุณแหวนยังบอกอีกว่าเวลาเราปั้น มันทำให้เราหยุดคิดเรื่องอะไรก็แล้วแต่ที่เรากำลังคิดมันอยู่ แล้วโฟกัสกับสิ่งที่กำลังปั้นแทน นั่นก็เป็นเพราะ “การปั้นเซรามิกมันต้องมีสมาธิ และมีความเข้าใจว่าเวลานี้คือเราอย่าพึ่งขึ้นรูปนะ อย่าพึ่งใจร้อน เราต้องรอให้ดินมันเซตก่อน แล้วค่อยมาทำต่อ” นี่อาจจะเป็นแหตุผลที่ว่าทำไมคุณแหวนดูใจเย็น แล้วก็ใช้ชีวิตสโลวไลฟ์มากๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการพูดการจา ท่าทางตอนสัมภาษณ์ หรือแม้กระทั่งการทำงานต่างๆภายในร้าน


คุณแหวน พิราอร อำนวยพรสกุล


กิจกรรมที่เปรียบเสมือนที่พักพิงทางกายและใจ

ทุกวันนี้มีผู้คนมากมายสนใจในการเข้าร่วมคลาสปั้นเซรามิก หรือคลาสดีไอวายอื่นๆเยอะขึ้น

อาจเป็นเพราะความวุ่นวายของโลกทุกวันนี้ และปัญหาต่างๆในชีวิตที่บางทีก็เข้ามาให้เกิดความเครียดโดยไม่รู้ตัว จึงทำให้คนเราอยากหาที่พึ่งอะไรสักอย่าง ที่เปรียบเสมือนที่พักกายและใจ เช่น การทำกิจกรรมบางอย่างที่ได้ใช้เวลาอยู่กับตัวเอง ทำด้วยตัวเอง เพราะกิจกรรมพวกนี้ทำให้เรามีสมาธิมากขึ้น จดจ่ออยู่กับมัน และลืมเรื่องต่างๆรอบตัวไปชั่วขณะ ยิ่งไปกว่านั้นถึงแม้ว่าผลงานของเราที่ออกมามันจะไม่สวยมากนัก แต่อย่างน้อยก็เป็นสิ่งที่เราได้ทำด้วยมือของเราเอง เหมือนกับประโยคที่คุณแหวนบอกตอนสัมภาษณ์ว่า “คนส่วนใหญ่คนที่ได้งานไปก็แบบดูแฮปปี้กับงานตัวเอง ว่าแบบเราปั้นเอง ถึงแม้ว่าสีมันอาจจะไม่เหมือนกับที่คิดไว้ หรือว่ามันอาจจะเบี้ยวๆหน่อยก็ไม่เป็นไร ยังใช้ได้”


มุมมองของชีวิตที่ต่างออกไปเพราะเซรามิก

“ตอนนี้เรามองว่ามันเป็นงานอดิเรกแต่ว่า แค่ทำให้มันเป็นงานอดิเรกเราให้เป็นงานหลัก แล้วก็เหมือนพัฒนาตัวเองไปด้วย ก็คือต้องทำงานตัวเองด้วยและก็เหมือนหาเงินจากมันได้อะ” จากประโยคที่คุณแหวนพูด มันสามารถสื่อความหมายออกมาได้อย่างชัดเจนว่า การใช้ชีวิตทำงานอยู่กับเซรามิกเนี่ย

มีผลดีกับชีวิตเธอในหลายๆด้าน การที่เปิดทั้งคลาสเวิร์คช็อปและคาเฟ่ไปพร้อมๆกัน มันเป็นแรงผลักดันให้เธอพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ การได้เจอนักเรียนที่หลากหลาย บ้างใจร้อน บ้างก็ใจเย็น ทำให้เธอได้ฝึกที่จะควบคุมสมาธิและอรมาณ์ของตนเอง ค่อยๆสอนให้นักเรียนของเธอนั้นปั้นเซรามิคด้วยความสุข ทำให้พวกเขาใจเย็นลง และรู้สึกภูมิใจกับผลงานของตนเอง


ความสงบท่ามกลางความวุ่นวาย

เวลาผ่านมาจนถึงวันนี้ A Clay Cafe ก็เปิดมาเป็นเวลาเกือบจะ 3 ปีแล้ว แต่ก็ยังมีผู้คนมากมายแวะเวียนมาที่นี่อยู่เสมอ โดยเฉพาะช่วงเวลาเที่ยงถึงบ่ายโมงลูกค้าจะเยอะเป็นพิเศษ เพราะที่ตรงนั้นเป็นย่านของคนทำงานอย่างที่บอกไป แม้ว่าภายนอกร้านจะมีคนเดินกันอย่างพลุกพล่าน แต่พอเราได้ก้าวขาเข้าไปในร้านมันให้ความรู้สึกเหมือนเราเข้าไปอยู่อีกโลกนึง ที่สงบมากๆ แม้ว่าในร้านจะคนเยอะ และมีพื้นที่ไม่กว้างมาก แต่บรรยากาศของคาเฟ่แห่งนี่เงียบสงบมาก ด้วยบรรยากาศภายในร้านที่ถูกออกแบบให้เหมือนกับว่าเราอยู่บ้าน กลิ่นหอมๆของกาแฟ และเพลงที่เปิดคลอในร้าน ทั้งสามอย่างนี้รวมกันลงตัวสุดๆ ทำให้ A Clay Cafe แห่งนี้เป็นที่ถูกใจของใครหลายคนที่อยากจะมาพักผ่อน นั่งทำงาน หรือหนีความวุ่นวายจากข้างนอก ก็เหมาะมากที่จะแวะเวียนมาที่นี่













Comments


logo2_edited_edited.png
  • Facebook
  • YouTube
  • Instagram
copyright-symbol-png-white-4.png
2020 by Supanit Kongtanakarun
logo Media com.png
Untitled-3.png
MUIC_Logo_Eng-01.png
bottom of page